‘กาแฟอาราบิก้า’ พืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง จ.เชียงใหม่ ผลผลิตอันดับ 1 ของประเทศ สู่การพัฒนาสินค้าอย่างยั่งยืน

ข่าวที่ 17/2566 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567
‘กาแฟอาราบิก้า’ พืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง จ.เชียงใหม่ ผลผลิตอันดับ 1 ของประเทศ
สู่การพัฒนาสินค้าอย่างยั่งยืน
          นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นแหล่งผลิต “กาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า” ที่สำคัญมีผลผลิตมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ซึ่งกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด ได้รับการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2566 – 2570 ภายใต้กลยุทธ์ส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการโซ่อุปทานสินค้าเกษตร และส่งเสริมและพัฒนาระบบตลาดสินค้าเกษตรคุณภาพ อีกทั้งจังหวัดเชียงใหม่เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้ากาแฟเพื่อความยั่งยืน ที่เน้นด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟให้มีคุณภาพดีเพื่อเตรียมเข้าสู่การเป็นสินค้าอัตลักษณ์ ซึ่งสอดคล้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ความสำคัญกับพืชกาแฟ มีเป้าหมายเสริมสร้างโอกาสในการพัฒนาการผลิตกาแฟตลอดห่วงโซ่คุณค่า ให้เกิดความยั่งยืนและยกระดับศักยภาพในการพัฒนากาแฟอย่างต่อเนื่องบนฐานการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
          สศท.1 ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจากข้อมูลพยากรณ์การผลิต ปี 2567 (ข้อมูลจาก สศก. ณ ต.ค. 66) มีเนื้อที่ให้ผล 32,681 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 0.53 เนื่องจากความต้องการบริโภคกาแฟอาราบิกาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาจูงใจ เกษตรกรจึงขยายพื้นที่ปลูกกาแฟแซมในเนื้อที่  ไม้ยืนต้น ไร่ชาเก่า และสวนป่าชุมชน ผลผลิตรวม 3,252 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 3 ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 99 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 3 ซึ่งผลผลิตรวมและผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นกาแฟสมบูรณ์ดีทำให้ติดผลดี และไม่มีฝนตกหนักในช่วงออกดอกเหมือนปีที่แล้ว ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนตุลาคม 2566 ต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน 2567 โดยเดือนธันวาคมเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุด ร้อยละ 33 และเดือนกุมภาพันธ์นี้ ผลผลิตจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 371 ตัน คิดเป็นร้อยละ 11 ของผลผลิตทั้งจังหวัด
          ด้านสถานการณ์ราคากาแฟอาราบิก้าผลสดภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2566 - มกราคม 2567 อยู่ระหว่าง 20-24 บาท/กิโลกรัม ซึ่งหากเทียบกับราคาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 – 2566) ราคาที่เกษตรกรได้รับจากการขายเมล็ดกาแฟอาราบิก้าผลสด มีอัตราการเติบโต ร้อยละ 13.93 ต่อปี เนื่องจากความต้องการบริโภคกาแฟอาราบิก้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาสูงตามไปด้วย ด้านการจำหน่ายผลผลิต เกษตรกรจำหน่ายกาแฟในรูปแบบผลสดและกาแฟกะลา โดยมีแหล่งรับซื้อที่สำคัญ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ผู้ประกอบการเอกชน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่
          สำหรับการปลูกกาแฟอาราบิก้า เกษตรกรจะปลูกในพื้นที่สูง มีความลาดชัน ปลูกแซมในเนื้อที่ไม้ยืนต้น ไร่ชาเก่า และสวนป่าชุมชน ใต้ร่มเงาไม้ เนื่องจากผลผลิตจะเติบโตดีและมีคุณภาพ ประกอบกับเกษตรกรมีความรู้และเชี่ยวชาญมีความพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก ดูแลรักษา และเก็บเกี่ยว ผลผลิตกาแฟอาราบิก้าของจังหวัดเชียงใหม่ จึงมีคุณภาพสูงซึ่งจากตัวอย่างของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการรวมกลุ่มแปลงใหญ่กาแฟ และจดทะเบียนเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกชา - กาแฟ คุณภาพบ้านป๊อก” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการผลิตในพื้นที่ ผลิตกาแฟอาราบิก้าและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 โดยมีนายไพบูลย์ พรหมเป็ง เป็นประธานกลุ่ม มีพื้นที่เพาะปลูก 354 ไร่ จำนวนสมาชิก 26 ราย ได้ผลผลิตรวมประมาณ 106 ตัน/ปี ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ซึ่งกลุ่มมีการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ สามารถส่งเสริมการขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง และจำหน่ายผ่านร้านค้า รีสอร์ทชื่อดังในพื้นที่
             “ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ ผลผลิตกาแฟอาราบิก้าจังหวัดเชียงใหม่ยังคงออกสู่ตลาดต่อเนื่องถึงเมษายน จึงขอเชิญชวนผู้บริโภค ทุกท่านร่วมสนับสนุนการบริโภคกาแฟอาราบิก้า ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์ รสชาติที่กลมกล่อม นุ่มนวล พร้อมกับกลิ่นหอมละมุน มีปริมาณของคาเฟอีนไม่เข้มข้นมาก จึงได้รับความนิยมใช้ในร้านกาแฟสดและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว หากท่านที่สนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตกาแฟของจังหวัดเชียงใหม่ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.1 โทร 0 5312 1318 หรืออีเมล์ zone1@oae.go.th” ผู้อำนวยการ สศท.1 กล่าวทิ้งท้าย
************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่